แนวทางการดูแลสุขภาพภายในหญิงรักหญิง

รายละเอียด :

หญิงรักหญิง หรือที่เรียกกันว่าเลสเบี้ยนนั้น ว่ากันว่าน่าจะมีมากกว่าชายรักชาย หรือที่เรียกว่าเกย์ กว่า 1 เท่าตัว แต่หญิงรักหญิงแท้ๆ นั้นมีน้อยกว่า หญิงที่รักหญิงก็ได้ชายก็ได้ งานวิจัยจากวารสาร J Reprod Med 1987 พบว่า ร้อยละ 77 ของหญิงรักหญิงทีเดียว ที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศชายในขณะเดียวกัน ซึ่งทำให้แนวทางการดูแลสุขภาพภายในต่างกันไประหว่างหญิงรักหญิงที่ไม่มี เพศตรงข้ามมาเกี่ยวข้องเลย กับหญิงรักหญิงที่มีเพศชายมาเกี่ยวข้อง

ในกรณีของหญิงรักหญิงที่ยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายชายด้วย การดูแลสุขภาพภายใน เช่น การตรวจหามะเร็งปากมดลูกนั้น ให้ตรวจเหมือนคุณผู้หญิงทั่วไป คือตรวจเมื่ออายุ 21 ปี หรือตรวจหลังมีเพศสัมพันธ์อย่างช้าไม่เกิน 3 ปี โดยตรวจทุกปี ถ้าให้ผลตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นลบ 3 ปีต่อกัน จึงตรวจ 3 ปีครั้ง สำหรับการตรวจหาโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ก็ให้ตรวจทุกครั้งที่มีอาการผิดปกติ หรือเมื่อรู้ว่าเสี่ยง เช่น ควรตรวจภายในเมื่อตกขาวมีกลิ่น แสบขัดภายใน ปวดท้องน้อย ฯลฯ หรือเจาะเลือดตรวจหาไวรัสเอดส์ โรคเลือดบวกซิฟิลิส เป็นกรณีๆ ไป

ในกรณีหญิงรักหญิงที่ไม่ยุ่งเกี่ยวผู้ชายเลย โอกาสที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกนั้นมีน้อยมาก เนื่องจากปัจจุบันจากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พบว่า มะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหูด (เอชพีวี) ชนิดก่อมะเร็งที่ปากมดลูก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ปากมดลูกจนผิดปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็ง (ไวรัสหูดมี 35 ชนิดที่ก่อมะเร็ง แต่ร้อยละ 70-80 มักจะเป็นไวรัสหูดชนิดที่ 16 และ 18) และไวรัสหูดมักจะถ่ายทอดโดยการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับชาย

แต่อย่างไรก็ตาม เพราะหญิงรักหญิง ไม่ต้องคุมกำเนิดเพราะไม่กลัวตั้งครรภ์ การไม่มีลูกและการไม่ได้รับฮอร์โมนจากยาคุมกำเนิด ทำให้โอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri) และโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้น มีสูงกว่าคุณผู้หญิงที่เคยมีลูก หรือคุณผู้หญิงที่คุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน ดังนั้น แพทย์จึงยังแนะนำให้หญิงรักหญิงตรวจภายในเช่นเดียวกับหญิงรักชายทั่วไป เพื่อตรวจหามะเร็งปากมดลูกที่อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่จากไวรัสหูด และตรวจหาโรคเนื้องอกภายในอื่นๆ

สำหรับโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์นั้น แม้หญิงรักหญิงจะมีปัญหาน้อยกว่าหญิงรักชาย แต่ก็ใช่จะไม่มี ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า เหตุหนึ่งที่ทำให้หญิงรักหญิงนั้น เป็นปัญหาของชีวิตครอบครัวที่ขาดความอบอุ่นมาแต่เยาว์วัย ทำให้เด็กผู้หญิงหาอัตลักษณ์ตนเองไม่เจอ ว้าเหว่ มีปัญหาทางจิตใจ ซึมเศร้า มีโอกาสที่จะติดเหล้า ยา บุหรี่ มีสูง มีโอกาสที่จะสำส่อนมีคู่นอนหญิงมากคน (ซึ่งมีโอกาสที่จะไปเจอคู่นอนหญิงที่มีเพศชายด้วย)

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเกือบทุกชนิดสามารถติดต่อจากหญิงสู่หญิงโดยการสัมผัสอวัยวะเพศ เช่น โรคหนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก แผลริมอ่อน เชื้อรา ช่องคลอดอักเสบ (เอ็นเอสวี) และแม้แต่เชื้อเอดส์ (ในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งมีเชื้อไวรัสเอชไอวี) ดังนั้น แม้จะเป็นหญิงรักหญิง หากมีความผิดปกติ หรือคิดว่ามีความเสี่ยง ก็ต้องตรวจภายใน และ/หรือตรวจเลือดเป็นกรณีๆ ไป

ส่วนเรื่องที่ว่า หากไปพบแพทย์ควรบอกว่าเป็นหญิงรักหญิงไหม? ข้อมูลจากงานวิจัยในกลุ่มเลสเบี้ยนของประเทศแคนาดา พบว่า ร้อยละ 15 ของเลสเบี้ยนไม่ไปหาหมอ เพราะเชื่อว่าหากหมอรู้ว่าตนเป็นเลสเบี้ยนหมอจะมีอคติในการดูแล และส่วนหนึ่งที่ไปหาหมอก็จะไม่บอกหมอว่าตนเองมีรสนิยมทางเพศเช่นไร แต่ในความเห็นของดิฉัน เรื่องหญิงรักหญิงนั้นปัจจุบันไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิส่วนตัวของคนไข้ และหมอต้องถือเป็นจรรยาแพทย์ที่จะไม่บอกใคร การที่บอกยังมีผลดี คือทำให้หมอตรวจรักษาและแนะนำ การดูแลสุขภาพทางเพศ สุขภาพทางกายและใจ ได้ดีและถูกทางยิ่งขึ้น

credit:www.siamhrm.com